0
เกมส์

ความเป็นมา


     โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง และอัมพฤกษ์ อัมพาต อยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเรียกว่า “โรควิถีชีวิต” ปัจจุบันโรคเหล่านี้มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน ผลกระทบทำให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต มีภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมาอย่างมหาศาล สาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรม “กินเค็มมากเกินไป”

     สัมภาษณ์เครือข่ายฉบับนี้ เราจึงพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม โดยเราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ” ประธานเครือข่ายลดเค็มอาจารย์ได้กรุณาเล่าถึงความเป็นมาของเครือข่ายว่า

     “จากความกังวลเรื่องโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นชนวนให้เกิดโรคไตทำให้เส้นเลือดเสื่อมสภาพ นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์และอัมพาต และการลดการบริโภคเกลือเป็นนโยบายที่คุ้มค่าในการป้องกันโรคดังกล่าว ทางสมาคมโรคไต ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทย NCDs Network สำนักโภชนาการ กรมอนามัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนไทยไร้พุง และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 40 ท่านในการก่อตั้ง และวางแผนการดำเนินงานของเครือข่ายโดยมีการขับเคลื่อนพร้อมแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส.

     ปัจจุบันมีการทานร่วมกันหลายภาคส่วน และมีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ครอบคลุมระดับหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ สมาคมโรคหัวใจ สมาคมประสาทวิทยา สมาคมหลอดเลือดแดง สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย องค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่ง เครือข่ายรักหทัย และแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพของมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เป็นต้น

     การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษของการบริโภคเกลือเกิน โดยการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน เช่น การจัด Road Show ตามสถานศึกษาในการให้ความรู้กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน การพัฒนาครูต้นแบบในการเผยแพร่ความรู้ในสถานศึกษาโดยเครือข่ายรักหทัยใน 4 ภูมิภาค การเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนโดยผ่านทางหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เผยแพร่ผ่านสื่อเช่น ทีวี เคเบิลทีวี วิทยุ และสื่อสังคมออนไลน์ และจัดให้มีการรณรงค์ในวันที่ 11-17 มีนาคม 2556 ประกาศให้เป็น “สัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง”

     การสร้างองค์ความรู้ผ่านทางงานวิจัย เช่น ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการวิจัยด้าน Food Reformulation เพื่อปรับเปลี่ยนสูตรอาหารให้เค็มน้อยลง ร่วมมือกับ อย.กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ในการผลักดันให้มีฉลากอาหารที่บอกปริมาณโซเดียม และร่วมมือกับแผนงานอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทย และร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลในการศึกษาปรมาณเกลือในอาหารที่คนไทยนิยมบริโภคและสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรส

     การพัฒนาข้อมูลด้านการบริโภคเกลือโดยวางแผนการจัดเก็บข้อมูลการบริโภคเกลือในประชากรเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานของประเทศในการสำรวจสุขภาพประกรไทยครั้งต่อไป

     การวัดปริมาณโซเดียมในปัสสาวะโดยจัดให้มีเป้าหมายในการลดเกลือในปัสสาวะลงปีละ 3% และลดลง 15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อสามารถไปให้ถึงตามเป้าหมายตัวชี้วัดระดับโลกของ WHO ที่จะลดการบริโภคเกลือลง 30% ในอีก 12 ปีข้างหน้า

     การรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือให้ได้อย่างจริงจัง โดยถ้าผู้บริโภคนิยมอาหารที่เค็มน้อยลงภาคอุตสาหกรรมและร้านอาหารต่างๆ ก็คงจะปรับตัวตามซึ่งต้องวางแผนการรณรงค์ในระยะยาว

     การผลักดันนโยบายทางกฎหมายในการควบคุมสินค้าอาหารที่เค็มรวมทั้งลดภาษีสำหรับอาหารลดเกลือโซเดียม

     การขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และการพัฒนา Role model โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบริการสาธารณสุขให้มีการจัดอาหารที่ลดเค็ม โดยได้รับแนวคิดและการร่วมมืออย่างดีจากพ่อครัวชื่อดัง คือ อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์

     การขยายการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์
 
copyright© 2024 www.lowsaltthai.com All rights reserved.